วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

คุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ

คุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ

คุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ เป็นนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพัฒนาคนโดยใช้คุณธรรมนำความรู้ รองรับนโยบายรัฐบาลในปีงบประมาณ 2550-2551 โดยกำหนดยุทธศาสตร์หลัก คือ 1) ปลูกจิตสำนึก สร้างเจตคติ ปรับพฤติกรรม 2) ปรับกระบวนการเรียนรู้หาต้นแบบสืบทอด 3) สร้างภูมิต้านทานโดยเครือข่ายขยายผล บ้าน สถาบันการศึกษา สถานศึกษา ชุมชน สื่อ 4) กำกับ ติดตาม และประเมินผล (สำนักงานเลขาธิการ สภาการศึกษา 2551: 1) ความหมาย คุณลักษณะเชิงพฤติกรรม และตัวชี้วัด/ตัวบ่งชี้คุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ มีรายละเอียด ดังนี้

1. ความหมายและคุณลักษณะเชิงพฤติกรรม

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (2550: 2 ) ให้ความหมายและคุณลักษณะเชิงพฤติกรรมของคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งประกอบด้วย ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย สุภาพ สะอาด สามัคคี มีน้ำใจ มีรายละเอียด ดังนี้

1.1 ขยัน หมายถึง ความตั้งใจเพียรพยายามทำหน้าที่การงานอย่างต่อเนื่อง
สม่ำเสมอ อดทน ไม่ท้อถอยเมื่อพบอุปสรรค ความขยันต้องปฏิบัติควบคู่กับการใช้สติปัญญาแก้ปัญหา จนเกิดผลงานสำเร็จตามความมุ่งหมาย
คุณลักษณะเชิงพฤติกรรม ผู้ที่มีความขยัน คือ ผู้ที่ตั้งใจทำงานอย่างจริงจังต่อเนื่อง
ในเรื่องที่ถูก ที่ควร ผู้ที่เป็นคนสู้งาน มีความพยายาม ไม่ท้อถอย กล้าเผชิญอุปสรรค รักงานที่ทำ ตั้งใจทำหน้าที่อย่างจริงจัง
1.2 ประหยัด หมายถึง การรู้จักเก็บออมถนอมใช้ทรัพย์สิน สิ่งของแต่พอควร
พอประมาณให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า ไม่ฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ
คุณลักษณะเชิงพฤติกรรม ผู้ที่มีความประหยัด คือ ผู้ที่ดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ที่
เรียบง่าย รู้จักฐานะการเงินของตน คิดก่อนใช้ คิดก่อนซื้อ เก็บออม ถนอมใช้ทรัพย์สิน สิ่งของอย่างคุ้มค่า รู้จักทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายของตนเองอยู่เสมอ
1.3 ซื่อสัตย์ หมายถึง ประพฤติตรง ไม่เอนเอียง ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม มีความ
จริงใจ ปลอดจากความรู้สึกลำเอียงหรืออคติ
คุณลักษณะเชิงพฤติกรรม ผู้ที่มีความซื่อสัตย์ คือ ผู้ที่มีความประพฤติตรงทั้งต่อ
หน้าที่ ต่อวิชาชีพ ตรงต่อเวลา ไม่ใช้เล่ห์กลคดโกงทั้งทางตรงและทางอ้อม รับรู้หน้าที่ของตนเอง และปฏิบัติอย่างเต็มที่ถูกต้อง
1.4 มีวินัย หมายถึง การยึดมั่นในระเบียบแบบแผน ข้อบังคับและข้อปฏิบัติ ซึ่ง
มีทั้งวินัยในตนเอง และวินัยต่อสังคม
คุณลักษณะเชิงพฤติกรรม ผู้ที่มีวินัย คือ ผู้ที่ปฏิบัติตนในขอบเขต กฎ ระเบียบของ
สถานศึกษา/สถาบัน/องค์กร/สังคมและประเทศ โดยที่ตนเองยินดีปฏิบัติตามอย่างเต็มใจและตั้งใจ เช่น การแต่งกายที่ถูกต้องตามระเบียบ เข้าแถวรับบริการตามลำดับ
1.5 สุภาพ หมายถึง เรียบร้อย อ่อนโยน ละมุนละม่อม มีกิริยามารยาทที่ดีงาม
มีสัมมาคารวะ
คุณลักษณะเชิงพฤติกรรม ผู้ที่มีความสุภาพ คือ ผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตนตาม
สถานภาพและกาลเทศะ ไม่ก้าวร้าว รุนแรง วางอำนาจข่มผู้อื่นทั้งโดยวาจา และท่าทาง แต่ในเวลาเดียวกันยังคงมีความมั่นใจในตนเอง เป็นผู้ที่มีมารยาท วางตนเหมาะสม ตามวัฒนธรรมไทย
1.6 สะอาด หมายถึง ปราศจากความมัวหมองทั้งกาย ใจ และสภาพแวดล้อม
ความผ่องใส เป็นที่เจริญตา ทำให้เกิดความสบายใจแก่ผู้พบเห็น
คุณลักษณะเชิงพฤติกรรม ผู้ที่มีความสะอาด คือ ผู้ที่รักษาร่างกาย ที่อยู่อาศัย
สิ่งแวดล้อมถูกต้องตามสุขลักษณะ ฝึกฝนจิตใจมิให้ขุ่นมัว จึงมีความแจ่มใสอยู่เสมอ
1.7 สามัคคี หมายถึง ความพร้อมเพรียงกัน ความกลมเกลียวกัน ความปรองดอง
กัน ร่วมใจกันปฏิบัติงานให้บรรลุผลตามที่ต้องการ เกิดงานการอย่างสร้างสรรค์ ปราศจากการทะเลาะวิวาท ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน เป็นการยอมรับความมีเหตุผล ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ความหลากหลายในเรื่องเชื้อชาติ ความกลมเกลียวกันในลักษณะเช่นนี้เรียกอีกอย่างว่า ความสมานฉันท์
คุณลักษณะเชิงพฤติกรรม ผู้ที่มีความสามัคคี คือ ผู้ที่เปิดใจกว้าง ยอมรับฟังความ
คิดเห็นของผู้อื่น รู้บทบาทของตน ทั้งในฐานะผู้นำและผู้ตามที่ดี มีความมุ่งมั่นต่อการรวมพลัง ช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน เพื่อให้การงานสำเร็จลุล่วง แก้ปัญหาและขจัดความขัดแย้งได้ เป็นผู้มีเหตุผล ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ พร้อมที่จะปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติ
1.8 มีน้ำใจ หมายถึง ความจริงใจที่ไม่เห็นแก่เพียงตัวเองหรือเรื่องของตัวเอง แต่
เห็นอกเห็นใจ เห็นคุณค่าในเพื่อนมนุษย์ มีความเอื้ออาทร เอาใจใส่ ให้ความสนใจในความต้องการ ความจำเป็น ความทุกข์สุขของผู้อื่น และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน
คุณลักษณะเชิงพฤติกรรม ผู้ที่มีน้ำใจ คือ ผู้ให้และผู้อาสาช่วยเหลือสังคม รู้จักแบ่งปัน เสียสละความสุขส่วนตน เพื่อทำประโยชน์แก่ผู้อื่น เข้าใจ เห็นใจ ผู้ที่มีความเดือดร้อน อาสาช่วยเหลือสังคมด้วยแรงกาย สติปัญญา ลงมือปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหา หรือร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้เกิดขึ้นในชุมชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น