วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การวัดด้านเจตพิสัย

ภัทรา นิคมานนท์ (2538: 151) ให้แนวคิดเกี่ยวกับการวัดด้านเจตคติว่าเป็นการวัดพฤติกรรมเกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิดทางจิตใจ อารมณ์และคุณธรรมของบุคคล พฤติกรรมการเรียนรู้ด้านเจตพิสัยสามารถจำแนกได้ 5 ระดับ คือ 1) การรับรู้ 2) การตอบสนอง 3) การสร้างคุณค่า 4) การจัดระบบคุณค่า และ 5) การสร้างลักษณะนิสัย
คุณลักษณะทางด้านเจตพิสัย เป็นคุณลักษณะทางด้านจิตใจของบุคคลที่บ่งชี้รูปแบบของอารมณ์หรือความรู้สึก ผู้วัดควรเข้าใจธรรมชาติของการวัดด้านเจตพิสัย ดังนี้
1. การวัดด้านเจตพิสัย เป็นการวัดทางอ้อม ไม่สามารถวัดได้โดยตรงจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 จำเป็นต้องวัดทางอ้อม โดยอาศัยการสังเกตพฤติกรรมทางกายและวาจาที่เราคาดว่าเป็นผลสะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์และความรู้สึก
2. คุณลักษณะด้านเจตพิสัยมีลักษณะเป็นนามธรรม ไม่สามารถสังเกตได้โดยตรง เช่น ความคิดสร้างสรรค์ ความรับผิดชอบ ความสนใจ ทำให้เกิดความลำบากในการอธิบายในแง่ของปริมาณและคุณภาพ จึงต้องมีการพัฒนาเทคนิควิธีในการวัดผลและประเมินผล
3. การวัดด้านเจตพิสัยมีความคลาดเคลื่อนได้ง่าย เนื่องจากอารมณ์หรือความรู้สึกอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ เงื่อนไข วุฒิภาวะ และประสบการณ์ของผู้ที่ถูกวัด การวัดด้านเจตพิสัยจึงต้องการเครื่องมือที่มีความเชื่อมั่นสูง
4. การวัดด้านเจตพิสัยไม่มีถูก-ผิด เหมือนข้อสอบด้านพุทธิพิสัย คำตอบของผู้ที่ถูกวัดเพียงแต่บอกให้ทราบว่าถ้าผู้ถูกวัดได้ประสบกับเหตุการณ์ หรือสถานการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กำหนดให้ เขาจะตัดสินใจเลือกกระทำอย่างไร สิ่งที่เขาเลือกกระทำจะเป็นเพียงตัวแทนของความคิดความเชื่อในสิ่งที่คิดว่าเขาพร้อมที่จะประพฤติปฏิบัติเท่านั้น
5. แหล่งข้อมูลในการวัดด้านเจตพิสัยสามารถวัดได้จากหลายฝ่าย ได้แก่ จากบุคคลที่เราต้องการวัด จากบุคคลผู้ใกล้ชิด และจากการสังเกตของผู้วัดเอง ซึ่งพฤติกรรมแสดงออกของบุคคลนั้นอาจไม่ใช่คุณลักษณะที่แท้จริงของเขาก็ได้ การแสดงพฤติกรรมของเขาอาจมีสาเหตุเบื้องหลังแอบแฝงอยู่ อาจทำเพื่อหวังผลประโยชน์ข้างเดียว เช่น ขยันเข้าห้องสมุดเพื่อเอาใจอาจารย์สอนวิชาบรรณารักษ์ ทั้งๆ ที่ไม่ชอบการค้นคว้าเลย ไปห้างสรรพสินค้าบ่อย ๆ เพราะต้องไปช่วยถือของให้คุณแม่ ทั้ง ๆ ที่ไม่ชอบการเดินดูสินค้า เป็นต้น
6. การวัดด้านเจตพิสัยต้องใช้สถานการณ์จำลองเป็นเงื่อนไขให้ผู้ถูกวัดตอบ ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้แบบทดสอบหรือแบบวัดด้านเจตพิสัยมีผลการวัดตรงกับพฤติกรรมที่แสดงออกในสถานการณ์ที่เป็นจริงในสภาพที่เป็นปกติของบุคคลนั้น ฉะนั้นแบบทดสอบหรือแบบวัดเจตพิสัยจึงต้องการคุณลักษณะด้านความตรงตามสภาพ
7. การวัดด้านเจตพิสัย มีวิธีการวัดได้ 2 แบบ ได้แก่ แบบประเมินตนเอง โดยให้ผู้ที่ถูกวัดตอบแบบวัดประเภทต่าง ๆ ที่ใช้เป็นเครื่องมือวัดด้วยตนเอง โดยการสำรวจตนเองว่ามีความรู้สึกอย่างไรตามหัวข้อคำถามนั้น ๆ และแบบประเมินโดยผู้อื่น ซึ่งเป็นการวัดโดยผู้ประเมินเป็นผู้วัดเอง หรืออาจมอบหมายหรือกำหนดให้เพื่อนนักเรียน ผู้ปกครอง หรือเพื่อนครู ฯลฯ เป็นผู้ใช้เครื่องมือวัด
8. พฤติกรรมการแสดงออกของคุณลักษณะด้านเจตพิสัย มีทิศทางการแสดงออกได้สองทาง ในทางตรงกันข้าม เช่น รัก-เกลียด ชอบ-ไม่ชอบ ขยัน-เกรียจคร้าน ฯลฯ และมีความเข้มของระดับความรู้สึก เช่น สนใจมากที่สุด ค่อนข้างสนใจ เฉย ๆ ไม่ใคร่สนใจ ไม่สนใจเลย หรือชอบมาก-ชอบน้อย หรือไม่ชอบเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น