วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เครื่องมือวัดด้านเจตพิสัย

เครื่องมือวัดด้านเจตพิสัย

เครื่องมือวัดด้านเจตพิสัยมีหลายประเภทที่แตกต่างกัน บอกได้ยากว่าเครื่องมือชนิดใดดีกว่ากัน เพราะความเหมาะสมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ
ณัฎฐภรณ์ หลาวทอง (2546: 201) กล่าวว่าจากการศึกษาวิจัยคุณลักษณะด้านเจตพิสัยที่ผ่านมา การใช้มาตรวัด เป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากมีความเป็นปรนัยสูง สามารถวัดได้กับคนจำนวนมากในเวลาอันสั้น และใช้งบประมาณน้อยกว่าวิธีอื่น ๆ สำหรับขั้นตอนของการพัฒนามาตรวัดด้านเจตพิสัยซึ่งเสนอโดย Devellis(1991) มี ข้อเสนอแนะ 8 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1 กำหนดให้แน่ชัดว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องการวัด ให้มีความชัดเจนในเชิงทฤษฎี และลักษณะที่เฉพาะเจาะจงของโครงสร้างสิ่งที่จะวัดไม่กว้างหรือแคบจนเกินไป
ขั้นที่ 2 สร้างข้อคำถาม โดยเลือกข้อคำถามที่สะท้อนถึงจุดมุ่งหมายในการวัด ข้อคำถามที่สร้างให้มีลักษณะเท่าเทียมกันหรือคู่ขนานกัน จำนวนข้อคำถามควรมีจำนวนมากเป็น 3 หรือ 4 เท่าของสุดท้ายที่ต้องการ แล้วแยกข้อคำถามที่มีลักษณะที่ดีออกจากข้อคำถามที่มีลักษณะที่ไม่ดี โดยพิจารณาจากความกำกวมของข้อคำถาม การที่ข้อความยาวเกินไป อ่านแล้วเข้าใจยาก หรือมีหลายแนวคิดอยู่ในข้อเดียว ไม่เป็นข้อความที่เป็นข้อเท็จจริงอยู่แล้ว และข้อความในข้อคำถามไม่ควรเป็นบวกหรือลบมากเกินไป
ขั้นที่ 3 กำหนดรูปแบบสำหรับการวัด ว่าจะมีลักษณะของมาตรวัดเป็นเช่นไร อาทิ มาตรวัดแบบเทอร์สโตน , มาตรวัดแบบกัทแมน , มาตรวัดแบบออสกูด หรือมาตรวัดแบบลิเคิร์ต จำนวนช่วงของการวัดจะเป็นเท่าไร มีรูปแบบการตอบลักษณะแบบสองทางหรือแบบทางเดียว พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาในการตอบให้ชัดเจน
ขั้นที่ 4 ให้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาข้อคำถามที่สร้างขึ้นในรอบแรก โดยที่ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบการให้นิยามปรากฏการณ์ของสิ่งที่จะวัดว่ามีความสัมพันธ์กับข้อคำถามที่สร้างขึ้นหรือไม่อย่างไร แล้วประเมินความชัดเจนและความถูกต้องของข้อคำถามในเชิงเนื้อหาการใช้คำ รวมถึงโครงสร้างในการวัด ผู้เชี่ยวชาญจะบอกได้ว่าขาดประเด็นใด และประเด็นใดควรจะเพิ่มเข้ามา และท้ายสุดผู้สร้างมาตรต้องสรุปความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด แล้วตัดสินใจว่าจะยอมรับหรือปฏิเสธคำแนะนำใดบ้าง ซึ่งในขั้นตอนนี้ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้สร้างมาตรวัด
ขั้นที่ 5 พิจารณาเลือกข้อคำถามที่มีความตรง ถ้าเป็นไปได้ควรเพิ่มเติมข้อคำถามที่คล้ายคลึงกันหรือคู่ขนานกัน เพื่อช่วยในการตรวจสอบความตรงของมาตรวัด และมีความเป็นไปได้ที่ผู้ตอบจะตอบตามความต้องการของสังคม(Social desirability) นอกจากนั้นควรตรวจสอบถึงความลำเอียงในการตอบ ก็จะช่วยให้ได้มาตรวัดที่มีความตรงอย่างสมบูรณ์
ขั้นที่ 6 นำมาตรวัดไปใช้กับกลุ่มตัวอย่าง โดยการกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างที่มากพอ ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอน ตามหลักเหตุผลแล้วกลุ่มตัวอย่างควรมีขนาดใหญ่ Nunnally(1978) กล่าวว่าจำนวนของกลุ่มตัวอย่างมีความเกี่ยวข้องกับจำนวนข้อคำถาม โดยเสนอว่า กลุ่มตัวอย่างควรมีจำนวน 300 คน จึงถือว่าเพียงพอ ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องความแปรปรวนร่วมระหว่างข้อที่อาจไม่คงที่ และความไม่เป็นตัวแทนของประชากรที่ตั้งใจจะใช้
ขั้นที่ 7 การประเมินข้อคำถาม โดยการทดสอบข้อคำถามที่สร้างขึ้นว่ามีความสัมพันธ์กับคะแนนจริงหรือตัวแปรแฝงที่ต้องการวัดหรือไม่ โดยพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างข้อ(inter-correlation) หากมีค่าสูง แสดงว่ามีตัวแปรแฝงร่วมกัน หากค่าความสัมพันธ์เป็นลบควรพิจารณาว่าได้มีการกลับขั้วการให้คะแนนหรือไม่ เมื่อพบว่ายังไม่ได้กลับขั้วการให้คะแนนก็กลับคะแนนให้เรียบร้อย แล้วจึงหาความสัมพันธ์อีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นหาความสัมพันธ์รายข้อกับคะแนนรวมของมาตรวัด(Item-scale correlation)
การตรวจสอบความแปรปรวนรายข้อ หากข้อคำถามมีความแปรปรวนสูงแสดงว่ากลุ่มผู้ตอบมีความหลากหลายในการตอบ การคำนวณค่าเฉลี่ยของข้อคำถามเพื่อหาจุดกึ่งกลางของพิสัยการตอบ ตรวจสอบความเที่ยงของมาตรวัด โดยเฉพาะสัมประสิทธิ์แอลฟา ซึ่งจะบ่งชี้สัดส่วนของความแปรปรวนในคะแนนของมาตรวัด หรือการหาค่าความเที่ยงอื่น ๆ ซึ่งมีค่าอยู่ระหว่าง -1 ถึง 1 Nunnally(1978) เสนอว่าค่าสัมประสิทธิ์แอลฟา 0.70 ขึ้นไปจึงจะสามารถยอมรับได้
ขั้นที่ 8 กำหนดความยาวที่เหมาะสมของมาตรวัด เนื่องจากความยาวของมาตรวัดมีผลต่อความเที่ยง ทำให้มีความแปรปรวนร่วมระหว่างข้อคำถามสูง ดังนั้นการเพิ่มจำนวนข้อเข้าไปทำให้มีความเที่ยงสูงขึ้น แต่ถ้ามาตรวัดมีขนาดยาว ก็จะทำให้ผู้ตอบเกิดความเบื่อหน่าย ดังนั้นผู้สร้างมาตรวัดควรจะพิจารณาถึงความยาวที่เหมาะสมด้วย หากต้องคัดข้อคำถามออกควรพิจารณาข้อคำถามที่มีความสัมพันธ์ต่ำกับข้อคำถามอื่น ๆ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น